บทความนี้ไม่ได้เขียนเองอ่ะครับ ไปเจอมาจาก
www.triamudom.org คุณทหารผ่านศึกเขาเขียนไว้จากประสบการณ์จริง ผมก็เลยอยากให้เพื่อนๆที่อยากเป็นหมอ มาลองอ่านว่าจะเป็นยังไงกัน
ความกดดันเวลาเป็นนักเรียนแพทย์นี่ยังมีอีกเยอะครับ….อืมมม…พี่ลองเขียนเท่าที่คิดออกก็แล้วกันนะครับ น้อง ๆ หมอคนอื่น ๆ ใครคิดออกก็เพิ่มเติมกันได้เลยนะครับ พี่ว่าดีเหมือนกันที่ให้น้อง ๆ ม.ปลายได้รู้ตรงนี้ไว้บ้าง จะได้ทราบว่าเรียนแพทย์ไม่ได้มีแต่ด้านสวยงามเหมือนความฝันครับ
- เรียนเยอะกว่าคนอื่น เวลาพักผ่อนน้อย (มีคณะไหนครับที่เรียนตั้งแต่ก่อน 7 โมงเช้า เลิกเรียนแล้วแต่ บางวันก็ 1-2 ทุ่ม แถมมีอยู่เวรทั้งครึ่งคืนและตลอดคืน)
- ไม่มีวันหยุดอีกต่อไป ไม่ว่าสุดสัปดาห์ ปิดเทอม หรือนักขัตฤกษ์ (มีก็นิดหน่อย หรือไม่ก็ยังคงต้องไปทำงาน/อยู่เวร)
- เด็กต่างจังหวัด อดกลับบ้านเน้อ…(ดูแลพ่อแม่คนอื่น แต่พ่อแม่ตัวเองนี่หาเวลาไปดูแลยากมาก)
- เรียนหนัก จ่ายหนัก (ค่าเล่าเรียนแพง ตำราแพทย์นี่ แต่ละเล่มหนา แพง ทั้งนั้น ไหนจะต้องทำรายงาน ค้นอินเตอร์เน็ต ซีร็อกซ์ชีท)
- เสี่ยงชีวิต…ไม่ได้พูดเล่นนะครับ ในชั้นคลินิกที่น้องต้องฝึกเจาะเลือด ฉีดยา แทงน้ำเกลือ เจาะน้ำไขสันหลัง เข้าช่วยผ่าตัด ทำคลอด เย็บแผล เก็บเสมหะ อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ ล้วนแต่มีโอกาสติดเชื้อได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะป้องกันอย่างดี แต่อุบัติเหตุก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอครับ ตัวอย่างมีมากมาย…และเชื้อโรคที่น่ากลัวนี่ ไม่ต้องบอกก็คงพอนึกกันออกใช่มั้ยครับ
ความคาดหวังจากครอบครัวและสังคม เป็นความกดดันที่หนักหนาเอาเรื่องเลยครับ (คนเป็นหมอต้องเก่ง ดี รู้จักกาลเทศะเสมอ ทำอะไรถ้าผิดพลาดจะถูกจับตามองและตำหนิมากกว่าคนอื่นหลายเท่า จะได้ยินบ่อยมากกว่า “เป็นถึงนักเรียนแพทย์” “หมอไม่น่า…” ฯลฯ ถูกยกเป็นตัวอย่าง เปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ฯลฯ)
- ความกดดันจากผู้ป่วยและญาติบางคน ที่เห็นเราเป็นนักเรียนแพทย์ บางครั้งก็จะไม่เชื่อถือในความรู้ความสามารถ เกิดการลองภูมิ หรือไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ
- งานที่นักเรียนแพทย์ต้องฝึกทำ มีหลายอย่างที่ปกติถ้าไม่มีนักเรียนแพทย์ พยาบาลก็ต้องเป็นคนทำ บางทีแทนที่พยาบาลจะคิดว่ามีนักเรียนแพทย์ขึ้นมาแล้วช่วยให้งานเบาลง จะกลายเป็นทำให้น้องรู้สึกว่าถูกใช้งานแทน และก็อย่างที่น้องบอกไว้ว่าบางครั้งก็จะมีการระบายอารมณ์กันอีกด้วย
- ในนักเรียนแพทย์บางคน จะขาดส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมเนื่องจากอย่างที่รู้กันอยู่ว่าเวลาว่างมีน้อยอยู่แล้ว บางคนที่มีธุระส่วนตัว หรือแบ่งเวลาไม่ดีนักจะไม่เหลือเวลาทำอย่างอื่น ซึ่งในบางครั้งทำให้ถูกมองว่าเห็นแก่ตัวและไม่ช่วยเหลือ ไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้น ๆ (คณะแพทย์มักถูกมองว่าเชิญไปร่วมงานอะไรของมหาวิทยาลัยแล้วมักไม่ค่อยร่วมมือ)
- สูญเสียความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนอื่นนอกสายอาชีพที่ไม่เข้าใจจะรู้สึกไม่ดีเวลาขอนัดเจอแล้วหมอขอเลื่อนนัดแบบไม่มีกำหนด หรือมีเวรกะทันหัน มีการตามตัว นัดเจอกันก็ลำบาก โทรไปหาก็บอกว่าติดเวร กำลังผ่าตัดบ้าง กำลังทำคลอดบ้าง คุยก็สั้น ๆ ถามคำตอบคำ (บางทีเพื่อนพี่โทรมา ด้วยความที่ไม่มีเวลาพี่ก็รีบถามว่า “มีธุระอะไรหรือเปล่า?” เพื่อนก็ตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงไม่ค่อยดีว่า “ทำไม? ไม่มีธุระอะไรนี่จะไม่คุยเลยใช่มั้ย?” เป็นต้น) วันเกิดเพื่อน พ่อ แม่ทั้งทีแม้แต่โทรหาก็ไม่ทำ (พอดีปั๊มหัวใจคนไข้อยู่ที่ห้องฉุกเฉิน) โทรมาทีก็ดึกดื่น (ก็เพิ่งลงเวรอ่ะครับ)…โอย มีอีกหลายเหตุการณ์เลยครับ แฟนกันสมัย ม.ปลาย นี่เลิกกันไปหลายคู่ก็ตอนคนหนึ่งเรียนหมอนี่แหละครับ
- ความกดดันจากเวลาและภารกิจที่หลายครั้งไม่สามารถวางแผนชีวิตให้แน่นอนไปได้ เช่น พรุ่งนี้ต้องเข้าช่วยอาจารย์ผ่าตัด วันนี้ไม่ได้อยู่เวรก็จริง แต่ต้องรอรับผู้ป่วยที่จะมา รพ. รอผ่าตัดพรุ่งนี้ เพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย ลงบันทึกในเวชระเบียน ฯลฯ ซึ่งบางครั้งก็ต้องรอกว่าคนไข้จะมา โดยที่ไปทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ หรือจะสอบแต่ก็ต้องอยู่เวร (และไม่มีทางทราบล่วงหน้าว่าเวรวันนั้นจะยุ่งหรือไม่) ฯลฯ
- ความกดดันจากความรับผิดชอบและมโนธรรมส่วนบุคคล เช่น เย็บแผลคนไข้ไว้ 3 วันต่อมาคนไข้กลับมา รพ. เพราะมีก้อนเลือดคั่งใต้แผล (กลับไปเครียดครับ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเราห้ามเลือดไม่ดี หรือคนไข้ไปทำอะไรกับแผล หรือเขามีปัญหาเลือดไม่แข็งตัวแล้วตัวเขาไม่ทราบ ฯลฯ) คนไข้อายุยังน้อย (ไม่น่าตายง่าย ๆ) มาหัวใจหยุดเต้นในเวรเรา (ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ นาๆ) แล้วปั๊มหัวใจไม่ขึ้น เป็นต้นครับ
- การสอบครับ เรียนหมอนี่สอบถี่มาก และเนื้อหาก็เยอะแยะมากมาย รูปแบบการสอบนี่ก็หลากหลาย ทั้งกา ทั้งเขียน ทั้งปฏิบัติจริง ฯลฯ
- สุขภาพส่วนบุคคล บางคนนอนน้อยแล้วจะปวดหัว อยู่เวรทีไรก็เลยปวดหัววันรุ่งขึ้นทั้งวัน (แล้วคิดดูครับว่าต้องอยู่เวรประมาณ 3 วันครั้ง นานเป็นปี ๆ) บางคนแพ้แป้งในถุงมือผ่าตัด (ซึ่งไม่มีทางทราบล่วงหน้า จนกว่าจะสัมผัสแล้วเกิดอาการ แต่ก็ยังต้องเรียนทำคลอดและผ่าตัดตามหลักสูตร) บางคนก็เป็นโรคกระเพาะ (น้องลองกินข้าวสัก 3 คำ แล้วลุกไปวิดพื้นสัก 30 นาที (เหมือนไปปั๊มหัวใจคนไข้อ่ะครับ) แล้วกลับมากินอีกครึ่งจาน แล้วไปวิดพื้นอีก บางมื้อก็อดกินไปเลย ทำอย่างนี้สักสัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง ต่อเนื่องสักเดือนสิครับ…หึ หึ…แต่เรียนหมอไม่ได้อยู่เวรแค่เดือนเดียวนะครับ)
- ผลการเรียนครับ บางคนเคยเรียนดีเด่นจาก ร.ร.เดิม มาก่อน พอมาเรียนหมอเจอเพื่อน ๆ เก่ง ๆ กันทั้งนั้น ผลการเรียนตัวเองจากที่ 1 เลยมาอยู่กลาง ๆ หรือค่อนมาล่าง ๆ คราวนี้ก็เครียดล่ะครับ
- ความมั่นใจในตัวเอง แต่พบว่าตนเองยังขาดความรู้ บางครั้งก็ทำให้เรากดดันนะครับ เช่น ตอบคำถามอาจารย์ หรือคนไข้และญาติไม่ได้ (อึ้งต่อหน้าเขาเลย แล้วก็กลับมาเครียด) หัตถการบางอย่างที่เคยทำได้แล้วในผู้ป่วยบางคนอยู่ดี ๆ ก็ทำไม่ได้ ก็ทำให้เครียดนะครับ รวมทั้งสภาพการทำงานด้วย เช่นเป็นปี 6 แล้ว ระหว่างดูคนไข้ร่วมกับปี 4-5 อยู่ พออาจารย์ถาม น้อง ๆ ตอบได้ เราตอบไม่ได้….ก็เครียดนะครับ หรือบางทีเรามีข้อสงสัยหรือไปถามพี่ ๆ หมอบางคนแล้วได้คำตอบกลับมาประมาณว่า “ปี… แล้วไม่ใช่เหรอ น่าจะรู้แล้วนะ” “อะไรกัน ไม่รู้ได้ยังไง” แบบนี้ก็ทำให้เครียดได้นะครับ
- ความผิดพลาดในการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือบาปบริสุทธิ์ (ฝีมือยังไม่กล้าแข็ง แต่อยู่ในภาวะที่ต้องทำ แล้วได้ผลออกมาไม่ดีดังคาด หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์) ก็ทำให้หมอน้อยทั้งหลายเครียดครับ
เอาล่ะครับ หลังจากทุกคนอ่านบทความนี้แล้ว คงจะได้รับรู้ถึงประสบการณ์ในการเรียนแพทย์ในอีกแง่มุมหนึ่ง แต่ยังไงขอให้วิจารณญาณในการตัดสินแล้วกันครับ ว่าควรจะเชื่อหรือไม่ ไว้พบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีครับ
ขอขอบคุณคุณ ทหารผ่านศึกและ
www.triamudom.org